Digital Fortress หรือชื่อภาษาไทย "ล่ารหัสมรณะ" เป็นนวนิยายกึ่งสืบสวนกึ่งผจญภัยของนักเขียนชื่อดัง แดน บราวน์ ผู้เขียน รหัสลับดาวินชี และ นวนิยายชุด โรเบิร์ต แลงดอน ที่หลายๆ ท่านอาจจะเคยผ่านหูผ่านตามา

นวนิยายเรื่องนี้ เขียนก่อนเรื่องเหล่านั้น และไม่มีความเกี่ยวข้องกันครับ (หรืออย่างน้อย ก็ไม่มี ศ.แลงดอน มาโผล่) แต่แนวคิดเรื่องล้ำและน่าสนใจมากๆ เรื่องราวว่าด้วยเรื่องของรหัสปริศนา ซึ่งแม้แต่คอมพิวเตอร์ของ NSA (หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ) ก็ถอดมันไม่ได้ ถึงจะเขียนมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ข้ออธิบายเรื่องราวของรหัสที่ถอดไม่ได้ ก็ยังคงสุดยอดมาจนถึงทุกวันนี้ ผมจะไม่สปอยก็แล้วกัน ให้ท่านผู้อ่านได้ไปรับรู้กันเอาเอง

แต่คำอธิบายที่ว่านั่น ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ผมชอบมันครับ เรื่องราวหลังจากนั้นต่างหาก ที่ตีหน้าคนอ่านอย่างเราให้ตื่นขึ้น และมองคำใบ้ที่มันใบ้มาตลอดทาง เนียนจริงๆ

จุดเด่นของแดน บราวน์ คือการไขปริศนาด้วยสัญลักษณ์ รหัส หรืออะไรบางอย่าง เช่น ศ.แลงดอน ก็จะเน้นงานศิลปะ และสัญลักษณ์วิทยาเยอะเป็นพิเศษ ในเรื่องนี้เองก็มีอะไรแบบนั้นครับ แต่จะหนักไปทางด้านอื่นมากกว่า

และจุดเด่นอีกด้าน คือ ตัวละครที่หลอกเราไปๆ มาๆ ครับ คนที่ว่าน่าจะดี ก็อาจจะไม่ดีก็ได้ หรืออาจจะดีจริงๆ ก็ได้ แต่จุดเดนข้อนี้ อาจกลายเป็นสิ่งที่เราเดาได้แทนครับ คือถ้าอ่านนิยายของแกมาหลายๆ เรื่อง เรื่องนี้จับจุดไม่ยาก (แต่ก็ไม่ง่ายเท่า Origin อันนั้นง่ายป๊ายยยย) ทำใจเรื่องนี้เอาไว้หน่อยนะครับ

- - - - - - - - -

ในภาพยนตร์เรื่อง Snowden ซึ่งสร้างจากช่วงชีวิตของเอ็ดเวิร์ด สโนวเดน อดีตเจ้าหน้าที่ NSA ของสหรัฐฯ พูดถึงความเป็นส่วนตัวของประชาชน จากการที่ NSA "แอบดู" ข้อมูลส่วนตัวของประชาชน และไม่ใช่แค่ในอเมริกาด้วย คดีที่ว่าเป็นข่าวดังไปทั่วโลก และทุกๆ ท่าน คงจะจำกันได้

นิยายเรื่องนี้ ตั้งคำถามเรื่องนั้น ในวิธีการที่ต่างกันออกไปครับ ถึงแม้สุดท้ายแล้ว มันจะพาเราอ้อมโลกไปไกล และไม่ได้ตอบคำถามนั้นให้เรา แต่มันก็ได้ตั้งคำถามแก่เรา เมื่อหลายสิบปีก่อนครับ

- - - - - - - - -

นวนิยายเรื่องนี้ ที่จริงผมเคยเห็นมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ ช่วงที่อ่านดาวินชีนั่นแหละ แต่พออ่านไปสักสองสามหน้า เจอคำเฉพาะทางด้านถอดรหัสแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่สนุก ก็เลยวางไป และลืมมันไปเลย จนกระทั่งช่วงโควิดมานี้ ไม่มีแดน บราวน์ เล่มไหน ที่ผมไม่เคยอ่านอีกแล้ว (ณ ปัจจุบัน) ก็เลยลองหยิบๆ มาเปิดดูอีก

และการกลับมาอ่านรอบนี้ อ่านพร้อมกับความรู้ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ฉะนั้น ศัพท์เทคนิคแทบทุกคำ ผมไม่ต้องอ่านเชิงอรรถ .... โคตรสนุก สนุกกว่าแลงดอนอีก ขอโทษครับ ฮ่าๆๆๆ

ถ้าท่านผู้อ่านไม่ชินกับศัพท์เทคนิค ก็มีเชิงอรรถให้อ่านนะครับ แต่ก็อาจจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็ขอให้สนุกกับเรื่องราวแทน แต่ถ้าใครชื่นชอบหรือมีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ และการเข้ารหัส คณิตศาสตร์ หรือชอบเรื่องการเมืองการปกครองอยู่ น่าจะสนุกมากขึ้นไปอีกครับ

อ้อ ยิ่งถ้าเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Snowden ที่พูดถึง NSA ด้วยแล้วละก็

บันเทิงมากๆ ครับ