ผมซื้อ "ลงเรือแป๊ะ" ของ อ.วิษณุ เครืองาม เมื่อครั้งไปเดินงานหนังสือเชียงใหม่ (ยุคโควิด) ที่ผ่านมา ในใจตั้งเป้าหมายเอาไว้เพียงแค่ว่า อยากจะรู้เรื่องราวการทำงาน เกร็ดของการเป็นรัฐมนตรี และ เรื่องสนุกๆ ในรัฐบาลเท่านั้น

ทั้งๆ ที่ใจเองก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และ มองว่ามีทางออกที่ดีกว่า สำหรับวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผมยังต้องการเป็นอย่างมาก ให้พรรคพวกจาก คสช. จบสิัน

เดี๋ยวจะยาวไปกว่านี้ แต่คิดว่าควรจะชี้แจงเอาไว้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านบทความได้เข้าใจ ในคำกล่าวที่ว่า "น่าเสียดาย" ซึ่งจะกล่าวช่วงท้าย


ถ้าจะพูดถึง "ลงเรือแป๊ะ" ในแง่ของความสนุก หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์มากๆ อ่านได้เพลินๆ สิ่งไหนที่เคยสงสัย เช่น "วันๆ รัฐมนตรีทำอะไร" หรือ กระบวนการของรัฐบาลในการเปลี่ยนผ่านกษัติริย์ของประเทศ ทั้งหมดถูกบอกเล่าในภาษาที่เข้าใจง่าย และ มีหลักกฎหมายสำคัญให้อ่านเสริม

ซึ่งตอบคำถามในส่วนของการทำงาน ในกระบวนการของรัฐบาลได้ประมาณหนึ่ง ในแง่นี้ ใครที่เรียนรัฐศาสตร์ คงจะชอบยิ่งขึ้นไปอีก

ทว่า ก็อีกนั่นแหละ น่าเสียดาย

ผู้เขียนอธิบายคำว่า "ลงเรือแป๊ะ" ไว้เสียยาว แต่สรุปสั้นๆ เป็นสำนวนที่ว่า "ลงเรือแป๊ะ ว่าตามแป๊ะ" แป๊ะในที่นี้ ก็คือ ผู้ที่ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศครั้งล่าสุด และ เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเขียนเพิ่มเติมแค่ไหน ว่า เรื่องบางเรื่องก็ห้ามตามใจแป๊ะ ไม่งั้นพากันล่มหมด หรือ พูดถึงสิ่งดีของผู้ที่ยึดอำนาจเพียงใด สิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งคนที่ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจากความไม่เห็นด้วย และ การแสดงออกอย่างเสรี ล้วนเป็นหลักฐานชี้ชัดว่าประเทศไทยไม่ควรมีการรัฐประหารอีกแม้แต่ครั้งเดียว

ทุกครั้งที่หยิบ "ลงเรือแป๊ะ" ขึ้นมาอ่าน เนื้อหาจะสนุกแค่ไหน ก็ไม่อาจลืมเรื่องราวเหล่านี้ได้


ตอนซื้อหนังสือ มีหนังสือของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล วางข้างๆ กัน (แหม ขายกันอย่างนี้เลย) คนขายก็บอกว่า เอาไปสองเล่มเลย อ่านของทั้งคู่ ฮ่าาาาาา ได้แต่ปฏิเสฐไป ว่าดู อ.ปิยบุตรพูดมาเยอะแล้ว เดี๋ยวค่อยอ่านแล้วกัน

ไม่รู้เหมือนกันว่าตัดสินใจถูกไหม แต่ถ้าถามตัวเอง ณ ตอนนั้น ก็คงซื้อ "ลงเรือแป๊ะ" มาอ่านอยู่ดี

อ่านแล้วชอบไม่ชอบอย่างไร ก็จะได้มาเขียนให้ท่านได้อ่านความเห็นต่อ ไม่เสียดายเงิน แต่เสียดายที่เป็นเรือแป๊ะลำนี้