1917 (หนึ่ง-เก้า-หนึ่ง-เจ็ด) เป็นชื่อหนังที่มาแรงมากๆ ในตอนนี้ หลังจากการขับเคี่ยวกันมานานของหนังเรื่องอื่นๆ ในการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ และหลังจากพาตัวเองเข้าไปสู่บรรยากาศของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในโรงภาพยนตร์แล้ว วันนี้ ผมอยากจะขอกล่าวถึงหนังเรื่องนี้สักเล็กน้อย



โดยปกติแล้ว หนังสงคราม มักจะฉายภาพสงครามให้คนดูได้เห็น ภาพความโหดร้าย ภาพความสวยงามของชีวิตปกติ และมีตอนจบบางอย่างทีี่เป็นชัยชนะ

หนังสงครามในยุคหลังๆ อาจไม่จบเช่นนั้น หนังอย่าง Dunkirk ของเด็จพ่อโนแลน จบด้วยการตั้งคำถามกับสงคราม ถึงแม้จะมีฉากที่เปรียบเสมือนชัยชนะก็ตาม แต่ประโยคที่ตัวละครคุยกัน กลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางนั้น

นี่มันจะเป็นชัยชนะได้ยังไง ในเมื่ออีกไม่นานนับจากนี้ พวกเค้าจะเรียกเราไปใหม่ กลับไปสู่สมรภูมิรบ

1917 เองก็มีตอนจบที่ตั้งคำถามคล้ายๆ กัน และที่ยิ่งไปกว่านั้น มันสอดแทรกสิ่งเหล่านี้เกือบทั้งเรื่อง! สงครามคุ้มค่าจริงหรือไม่? แน่นอน เมื่อเทียบกับชีวิตของมนุษย์แล้ว มันไม่คุ้มค่าใดๆ แต่ทำไมผู้ที่อยู่ข้างบนยังคงทำสงครามกันอยู่ล่ะ?

ความยอดเยี่ยมของหนัง ที่หลายๆ คนคงได้กล่าวไปแล้ว คือการที่หนังใช้เทคนิค Long-Short โดยถ่ายชอร์ตยาวๆ หลายๆ ชอร์ต เอามาเรียงร้อยต่อกัน โดยมีการส่งผ่านชอร์ตเหล่านั้นแบบเป็นธรรมชาติ หลายชอร์ตเรารู้ว่านี่คือการคัท แล้วถ่ายต่อ ในขณะที่อีกหลายๆ ชอร์ต เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นเช่นนั้น (พอมาดูเบื้องหลัง เฮ้ย ชอร์ตนี้มันคัทด้วยเหรอวะ?)

เครดิตความดีความชอบ คงต้องยกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆ คน ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า ฝ่ายกำกับศิลป์ที่ต้องเนรมิตฉากสนามเพลาะที่ยาวมากกกกกกกก เพราะมันเดินถ่ายกันไม่คัทเลย ฝ่ายกำกับภาพที่ต้องดีไซน์มุมภาพ และการใช้กล้อง ให้สามารถส่งต่อกล้องไปบนอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งบนเรือ บนรถ บนเครน และบนตัวคน ฝ่ายเทคนิคพิเศษที่ต้องทำเทคนิคพิเศษในซีนที่ต่อกันยาวๆ ไปจนถึง คนเขียนบท ผู้กำกับ และอีกหลายๆ คนที่อาจจะพูดไม่หมด

เบื้องหน้าอย่างนักแสดง ก็ต้องได้รับเครดิตเช่นกัน ด้วยความที่ชอร์ตหรือเทคหนึ่งมันถ่ายต่อเนื่องยาวๆ ไป กว่าจะคัทก็อีกหลายเมตร หรือหลายร้อยเมตรข้างหน้านู่น ฉะนั้น บทพูด จุดที่ต้องเกิดเหตุการณ์ต่างๆ จึงต้องมีความแม่นยำพอสมควร รวมถึงการแสดง ที่ต้องเรียกอารมณ์โกรธ เศร้า ดีใจ ประทับใจ ออกมา ณ ช่วงเวลานั้น ไม่สามารถคัทได้ (เพราะเดินมาโคตรไกลแล้ว)

เรียกว่า เป็นหนังที่ทะเยอทะยานด้านงานสร้างเป็นอย่างมาก และมีบท มีการตัดต่อ ที่ยังคงส่งสารของการต่อต้านสงครามได้อย่างทรงพลัง

ภาพจาก หนังเรื่อง Dunkirk 2017


แต่มันคู่ควรกับออสการ์จริงหรือ?
คำถามนี้คงเกิดขึ้นในใจของหลายๆ คน ซึ่งสำหรับผมแล้ว บอกได้เลยว่าคู่ควรครับ (หรือถ้า Parasite ได้ อันนั้นก็คู่ควรเช่นกัน) คู่ควรด้วยความทะเยอทะยานของงานสร้าง และทุกส่วนที่ส่งเสริมไปกับมัน

แปลว่ามันเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมากๆ เลยใช่ไหม?
คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ หนังมีจุดผิดพลาดประปราย มีหลายช่วงที่น่าเบื่อ และยังไม่ใช่หนังสงครามที่ดีที่สุดในสายตาของผม หนังมีความดีงามอย่างน่าประทับใจ แต่ถ้าจะให้แนะนำ ก็ควรไปดูด้วยการไม่คาดหวังจนเกินไปนัก

สรุป หนังมันมีดีเพราะ Long Short สินะ?
คำตอบคือ ก็ไม่ใช่เช่นกันครับ พูดยังไงดี? ....
ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่เล่าแบบ Long Short มันจะยังดีงามแบบนี้ไหม ผมเองเชื่อว่า มันจะยังสามารถดีงามได้อยู่ แต่บทเอย การกำกับเอย การแสดง หรือแม้แต่การออกแบบงานสร้าง ก็คงจะต้องหาหนทางอื่นๆ ในการที่จะเล่าเรื่องออกมาให้ได้ ที่ไม่ใช่รูปแบบนี้

กลับกัน การเล่าแบบ Long Short แบบนี้ ถ้าไม่มีบทที่ส่งเสริมกัน ไม่มีการกำกับ ตัดต่อ แสดง งานสร้าง และเทคนิคพิเศษ หรือดนตรีที่ไปด้วยกันได้ มันก็มีสิทธิ์ที่จะพังได้ง่ายๆ เช่นกัน ฉะนั้น หนังมันไม่ได้ดีงามเพราะใช้ Long Short แต่มันเลือกใช้วิธีแบบ Long Short และเล่าได้ดีงามครับ

สนับสนุนให้ไปดูนะครับ เสียงเอย ภาพเอย ควรเสพในโรงภาพยนตร์ ดูในมือถือ หรือคอมพ์ทีหลัง อาจจะเสียดายได้